ประวัติโรงเรียน
|
ข้อมูลทั่วไป
โรงเรียนวัดยายร่ม (วัฒนราษฎร์รังสรรค์) ที่ตั้ง เลขที่ ๒๔ ก หมู่ ๖ ถนนพระราม ๒ แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ ๐๒-๔๒๗-๑๒๒๐ โทรสาร ๐๒-๔๒๗-๑๒๒๐ E-mail : yairomschool@hotmail.com Website : www.watyairomschool.ac.th เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒๐๐ ตารางวา เขตพื้นที่บริการ แขวงบางมด เขตจอมทอง
ประวัติโรงเรียนโดยย่อ
โรงเรียนวัดยายร่ม (วัฒนราษฎร์รังสรรค์) เป็นโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เดิมชื่อโรงเรียนประชาบาลบางมด ๒ (วัดนางร่ม) เปิดเรียนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๗๗ ใช้ศาลาการเปรียญของวัดยายร่มเป็นที่เรียนชั่วคราว
พ.ศ. ๒๔๙๓ เจ้าอาวาสวัดยายร่ม ข้าราชการปกครองและประชาชน ได้ร่วมใจกันสละทรัพย์สินส่วนตัว ร่วมกับงบประมาณราชการสร้างอาคารเรียนถาวรและได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวัดนางร่ม
(วัฒนราษฎร์รังสรรค์) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้ขยายชั้นเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารสถานที่วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนให้ทันสมัยจนได้รับรางวัลดีเด่นหลายประเภท
เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๓๘ กรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนวัดนางร่ม (วัฒนราษฎร์รังสรรค์) เป็นวัดยายร่ม (วัฒนราษฎร์รังสรรค์) เพื่อให้เป็นชื่อเดียวกับวัด ปีการศึกษา ๒๕๓๘ ได้เข้าร่วมโครงการตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ปีแรกทำการสอน จำนวน ๒ ห้องเรียน เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๘ ปีการศึกษา ๒๕๓๙ ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนในระดับอนุบาลศึกษา จำนวน ๑ ห้องเรียน
ปัจจุบันปีการศึกษา 2563 โรงเรียนวัดยายร่ม เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีนักเรียนทั้งหมด 619 คน มีอาคารเรียน ๔ หลัง อาคาร 1 ตึก ๓ ชั้น เป็นเรียนชั้นอนุบาลศึกษาถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อาคาร 2 ตึก 5 ชั้น (อาคารเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี) เป็นอาคารเรียนชั้น ป.๔-ป.๖ และเป็นห้องสำนักงานและห้องสมุด อาคาร 3 ตึก ๔ ชั้น เป็นอาคารเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ถึงประถมศึกษาปีที่ 3 และห้องเรียนพิเศษต่างๆ อาคาร 4 ตึก ๕ ชั้น (อาคารพระครูโสภิตบุญญาทร) ใช้เป็นอาคารเรียนของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และห้องเรียนพิเศษของชั้นมัธยม อาคารเอนกประสงค์ ๑ หลัง โดยชั้นล่างเป็นโรงอาหาร และอาคารปฏิบัติการ ๒ หลัง หลังแรกมี 4 ชั้นใช้เป็นห้องเรียนดนตรีไทย ศิลปะ คณิตศาสตร์ จริยธรรม และหลังที่ 2 มีหนึ่งห้องเรียนใช้เรียนการทำอาหาร มีอาคารประกอบ ๔ หลัง (เรือนเกษตร, ห้องงานช่าง, เรือนเพาะเห็ด, อาคารหอสมุดเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๙)
ข้อมูลสภาพชุมชนโดยรวม
สภาพชุมชนรอบบริเวณโรงเรียนปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านจัดสรร ตึกแถว อาคารพาณิช โรงงาน สถานประกอบการการค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ชุมชนชาวสวน มีประชากร ประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน บริเวณใกล้เคียงโดยรอบโรงเรียน ได้แก่ วัดยายร่ม และตลาด อาชีพหลักของชุมชน คือ รับจ้างและค้าขาย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประเพณี/ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
คือ การปลูกส้มบางมด
ผู้ปกครองส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนปลาย อาชีพหลัก คือ รับจ้าง และนับถือศาสนาพุทธ ฐานะทางเศรษฐกิจ/รายได้โดยเฉลี่ยต่อครอบครัวต่อปี ต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำนวนคนเฉลี่ยต่อครอบครัว ๕ คน
โอกาสและข้อจำกัดของโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนอยู่ใกล้แหล่งเรียนรู้ อยู่ติดบริเวณวัด ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากวัด ชุมชน ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างดี ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์และมีระบบการบริหารจัดการใช้หลักการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการและพัฒนาสถานศึกษา บุคลากรในโรงเรียนมีศักยภาพและมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน ทำงานเป็นทีม ร่วมมือร่วมใจและอุทิศตน อุทิศเวลาให้กับการทำงานอย่างเต็มที่ และมีความพร้อมในด้านวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการจัดการศึกษาอย่างเพียงพอและใช้ปฏิบัติการได้เป็นอย่างดี แต่มีข้อจำกัดบางประการ คือ เศรษฐกิจรายได้ในครอบครัวของผู้ปกครองค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้ปกครองต้องดิ้นรนในการทำมาหากินเพื่อให้เพียงพอกับความอยู่รอดในสังคม ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาเท่าที่ควร จึงมักโยนภาระมาให้ครูผู้สอน
|